ธุดงค์กรรมฐาน Dhutanga Kamathan Buddhist Monk Costume ,Monk Robe, Monk Clothes ,Buddhist Bhikkhu Costume

บทความ

ปฐมเหตุแห่งการทำจีวรแบ่งเป็นขัณฑ์(เป็นตอน)

02-07-2562 18:07:02น.

     สมัยที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกจากแคว้นมคธไปสู่ทักขิณาคิรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นชาวแคว้นมคธพูนดิตทำคันนาเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง แล้วทำคันนาสั้น ๆ คั่นตรงกลางเชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง พระองค์จึงชี้ให้ท่านพระอานนท์ผู้ตามเสด็จดูประดิษฐกรรมของชาวนา และตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า สามารถจะทำจีวรให้มีรูปแบบอย่างนั้นได้หรือไม่ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า "สามารถทำได้" แล้วได้ทำจีวรมีรูปแบบอย่างที่ชาวแคว้นมคธทำคันนานำไปให้พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร

     พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ว่า เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญามาก สามรถเข้าใจความหมายของคำที่พระองค์กล่าวย่อ ๆ ได้โดยพิสดารนับจากนั้นมา จึงทรงอนุญาตสังฆาฏิ อุตตราสงค์ และอันตรวาสก ตัดเป็น ๕ ขัณฑ์ (หรือ ๕ ตอน) แล้วเย็บเข้าด้วยกัน โดยมีผ้าที่เป็นส่วนประกอบ ๙ อย่าง คือ

     ๑. ผ้ากุสิ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต)

     ๒. ผ้าอัฑฒกุสิ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอน ๆ ในระหว่างผ้ายาว

     ๓. ผ้ามณฑล ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ขัณฑ์

     ๔. ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้ามีบริเวณเล็ก ๆ

     ๕. ผ้าวิวัฏฏะ ตอนของผ้าที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน

     ๖. ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้า ๒ ตอนที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร

     ๗. ผ้าคีเวยยกะ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้ามาทีหลังตรงบริเวณที่พันรอบคอ

     ๘. ผ้าชังเฆยยกะ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้ามาทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง

     ๙. ผ้าพาหันตะ ผ้าที่อยู่ตรงด้านยาวทั้ง ๒ ด้านของจีวร

(พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เล่ม ๔)